Language:  THA  |  ENG แจ้งโอนเงิน
ตะกร้าสินค้า :  0  ชิ้น (0.00 บาท)
 
      เกร็ดความรู้
หน้าหลัก  >  เกร็ดความรู้  >  ปัจจัยความเสี่ยงของการเกิดโรคในช่องปาก


  ปัจจัยความเสี่ยงของการเกิดโรคในช่องปาก
 

โรคในช่องปากที่เป็นที่รู้จักกันดี ก็คือ โรคฟันผุ เหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งในคนที่เคยเป็นโรคเหล่านี้มาแล้ว จะทราบดีว่า ถ้าเป็นโรคนี้ในระยะรุนแรง จะทำให้เกิดทั้งความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน เคี้ยวอาหารไม่ได้ เพราะโรคฟันผุที่ปล่อยให้ทะลุโพรงประสาท และโรคปริทันต์อักเสบที่ปล่อยเรื้อรัง เป็นทางให้เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด แพร่กระจายเกิดอันตราย แก่อวัยวะต่างๆ ที่สำคัญของร่างกายได้

ยิ่งถ้าปล่อยให้ช่องปากเป็นโรค ไม่ให้ความสนใจที่จะรู้สาเหตุและแก้ไขด้วย ตัวเราเอง เอาแต่ไปหาหมอรักษาแล้วละก็ คงจะต้องวนเวียนหาหมอฟันเกือบทั้งปี ด้วยฟันทั้ง 32 ซี่นั้น เป็นปัญหาเศรษฐกิจไม่ใช่น้อย ในยุคภาวะที่ต้องช่วยกันประหยัดนี้ คงไม่ใช่ทางที่เหมาะสมแน่

มาเรียนรู้กันดีกว่าว่า โรคในช่องปาก ... เป็นอย่างไร และเราจะลดความเสียง ต่อการเกิดโรคกันได้อย่างไร

สภาพทั่วไปในปากของคุณ


ภายในช่องปากของคนเรานั้น นอกจากจะมีฟัน และอวัยวะรอบๆ ตัวฟันแล้ว จะมีจุลินทรีย์ที่มอง ไม่เห็นอยู่มากมาย บางส่วนของจุลินทรีย์เหล่านี้ จะเกาะ ติดอยู่อย่างแน่นแฟ้น กับสารที่มีลักษณะเป็นเมือกเหนียวที่ผิวฟัน รวมเรียกว่า คราบจุลินทรีย์ (Dental Plaque) 

ดังนั้น คราบจุลินทรีย์ ก็คือ กลุ่มเชื้อโรคที่เจริญเติบโตเบียดเสียดกันอยู่ จนมองเห็นเป็นกลุ่มก้อน สีขาวเหลือง กลมกลืนไปกับสีฟัน หรือที่เราเรียกกันว่า “ขี้ฟัน” นั่นเอง ซึ่งหากนำขี้ฟันนี้แม้เพียงเล็กน้อย ไปกระจายตัวในน้ำเกลือ ส่องขยายด้วยกล้องจุลทรรศน์ ก็จะเห็นเป็นตัวเชื้อโรคมากมาย เคลื่อนไหวไปมา ใครที่เคยเห็นแล้ว คงแทบไม่อยากให้อยู่ในปาก หรือบนฟันของเราอีกเลย

จุลินทรีย์ที่อยู่บนคราบนี้แหละมีบทบาทสำคัญ เพราะจะเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคฟันผุ เหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์อักเสบ

แต่ก็ไม่ใช่ว่า เราจะต้องเป็นโรคฟันผุ เหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์อักเสบเหมือนกันทุกคนไป เพราะแต่ละคนต่างก็มีปัจจัยเสี่ยงแตกต่างกัน จึงทำให้ความเสี่ยง ต่อการเกิดโรคในช่องปากไม่เท่ากัน

ปัจจัยต่างๆ ที่เป็นผลทำให้เกิด “ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคในช่องปาก”


คราบจุลินทรีย์ เป็นตัวการสำคัญของการเกิดโรคในช่องปาก แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพล ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคในช่องปากที่เพิ่มขึ้น ได้แก่

1.ปัจจัยเกี่ยวกับพฤติกรรม  


1.1 การกินอาหาร อาหารหวานและอาหารจำพวกแป้ง ที่มีการคงอยู่ในช่องปากนานๆ โดยเฉพาะในคนที่ชอบกินจุบกินจิบ ไม่เป็นเวลา จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคฟันผุ เพราะเชื้อจุลินทรีย์สามารถแปรเปลี่ยน สารอาหารแป้งและน้ำตาลให้เป็นกรด ไปมีผลให้แร่ธาตุ ในผิวฟันสลายออก ทำให้ฟันของคนที่ช่องปากมีสภาวะเป็นกรดนาน เพราะการกินอาหารนี้เกิดการผุได้

ในขณะเดียวกัน ยังมีเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มที่ทำให้เกิดเหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งสะสมอยู่บริเวณคอฟัน ซอกฟัน เจริญเติบโตขึ้น จากการใช้สารอาหารพวกแป้งและน้ำตาลนี้เช่นกัน จะมีการเคลื่อนลึกลงใต้เหงือกเข้าไปเรื่อยๆ และ ปล่อยสารพิษที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบของเหงือก เกิดสภาวะเหงือกอักเสบได้ และถ้าหากการทำลายลุกลามต่อไป จนถึงกระดูกรองรับรากฟัน และอวัยวะรอบๆ ฟันอื่น จะเกิดเป็นโรคปริทันต์อักเสบ หรือที่เรียกว่า รำมะนาดนั่นเอง

ดังนั้น เราควรปรับพฤติกรรมการกินอาหาร โดย

  • ลดจำนวนครั้งในการกินอาหารที่มีน้ำตาลผสม
  • ลดความปริมาณน้ำตาลที่ใช้ผสมในอาหาร และเครื่องดื่ม เช่น ชา กาแฟ
  • จำกัดการกินอาหารหวาน ให้อยู่เฉพาะในมื้ออาหารมื้อหลักเท่านั้น

1.2 การรักษาความสะอาดช่องปาก ช่องปากที่ไม่สะอาด จะเป็นแหล่งสะสมของคราบจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นสาเหตุ สำคัญของการเกิดโรคในช่องปาก การกำจัดคราบจุลินทรีย์ได้ไม่หมด ทำให้ เกิดการสะสมของเชื้อโรค เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรค ทั้งโรคฟันผุ เหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์อักเสบ

วิธีการทำความสะอาดช่องปากให้สะอาดอย่างแท้จริง ประกอบด้วย

การแปรงฟันที่ถูกวิธี หมายถึง

  • แปรงฟันทั่วทุกซี่ และทุกด้าน
  • เน้นบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคสูง ได้แก่ ฟันกราม และด้านลิ้น
  • ใช้แปรงขนอ่อน แปรงด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ และใช้เวลาอย่างน้อย 2 นาที

การใช้เส้นใยขัดฟัน

  • เพื่อทำความสะอาดซอกฟัน ซึ่งเป็นบริเวณที่การแปรงฟันไม่สามารถทำความสะอาดได้ และเป็นบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค
  • เน้นบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคสูง คือ บริเวณฟันกราม
  • ใช้อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  • ควรใช้เส้นใยขัดฟัน เพื่อทำความสะอาดฟันก่อนการแปรงฟัน

1.3 การสูบบุหรี่ บุหรี่ประกอบด้วยสารที่เป็นพิษต่อร่างกาย โดยเฉพาะในช่องปาก จะทำให้เกิดโรคปริทันต์อักเสบ ชนิดรุนแรง และมักเป็นกับฟันเกือบทั้งปาก การทำลายกระดูกรอบฟัน จะรวดเร็ว รุนแรง กว่าจะรู้ตัว ก็เกิดเป็นฝี บวม มีหนอง ปวด การรักษาจะยุ่งยาก และอาจต้องถูกถอนฟันในที่สุด เพราะหากยังสูบบุหรี่อยู่ การรักษาโรคมักจะไม่ได้ผล แต่ในทางตรงข้าม หากหยุดสูบบุหรี่ ก็พบว่าโรค จะหยุดลุกลามได้ และการรักษาจะได้ผลดี

2.ปัจจัยเกี่ยวกับตัวฟัน


2.1 ลักษณะรูปร่าง และการ เรียงตัวของฟัน ฟันที่มีลักษณะเป็นหลุมร่องลึก ฟันที่มีการเรียงตัวซ้อนหรือเก จะเกิดการเกาะติดของคราบจุลินทรีย์ได้ง่าย ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคฟันผุ เหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์อักเสบได้

2.2 การใส่เครื่องมือต่างๆ คนที่มีการใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ หรือติดแน่น หรือผู้ที่ใส่ เครื่องมือเพื่อการจัดฟัน หากไม่ได้ดูแลทำความสะอาดฟันอย่างดี จะทำให้เกิดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ได้ง่าย เกิดความเสี่ยงต่อ การเป็นโรคฟันผุ เหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์อักเสบได้เช่นเดียวกัน

2.3 ลักษณะการผุที่ตรวจพบ โรคฟันผุส่วนใหญ่มักจะพบได้ง่าย ที่บริเวณหลุม และร่องฟัน คนที่ตรวจพบว่า มีฟันผุบริเวณฟันหน้าล่าง หรือฟันผุบริเวณซอกฟัน หรือมีฟันผุที่ไม่ได้รับการรักษาเป็นจำนวนมากในปาก จัดว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคฟันผุ

3. ปัจจัยเกี่ยวกับสภาวะสุขภาพ และโรคทางร่างกาย


3.1 โรคเบาหวาน คนที่เป็นโรคเบาหวาน หากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในค่าปกติไม่ได้ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปริทันต์อักเสบ ชนิดที่มีการลุกลามของโรค รวดเร็ว และเป็นไปได้กับฟันเกือบทั้งปากเช่นกัน และการรักษาก็จะไม่ค่อยได้ผลด้วย แต่ในทางกลับกัน พบว่า คนที่เป็นเบาหวานที่ดูแลอนามัยช่องปากได้สะอาด จะมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง

3.2 คนที่มีสภาวะน้ำลายแห้ง โดยปกติ น้ำลายจะไหลเวียน และทำหน้าที่ชะล้างเศษอาหาร รวมทั้งจุลินทรีย์ที่สะสมในช่องปากให้ลดจำนวนลง ซึ่งเท่ากับเป็นการ ทำให้สภาวะช่องปากเป็นกรดลดลง จึงลดการสูญเสียแร่ธาตุจากผิวฟัน คนที่มีโรคทางระบบ การรักษาจะทำให้มีการหลั่งของน้ำลายน้อย เช่น การได้รับรังสี ได้รับเคมีบำบัดเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง บริเวณศีรษะและลำคอ หรือได้รับยาบางชนิด น้ำลายจะมีลักษณะเหนียว อาจพบเยื่อเมือกในช่องปากแห้ง หรือหลุดลอกได้ คนกลุ่มนี้ จึงมีการสะสมของเชื้อจุลินทรีย์ และมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคฟันผุ

3.3 คนที่มีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน เช่น ในหญิงมีครรภ์ สตรีวัยหมดประจำเดือน เด็กเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ต้องการการทำความสะอาดช่องปากมากขึ้น เพราะบางคนจะมีเหงือกอักเสบง่ายและรุนแรง

4. ปัจจัยเกี่ยวกับสภาวะสุขภาพ และโรคทางร่างกาย


4.1 คนที่มีอายุเพิ่มขึ้น มักมีอาการปากแห้ง เนื่องจากน้ำลายน้อยลง จึงเสี่ยงต่อการ เกิดโรคทั้งฟันผุที่รากฟัน และปริทันต์อักเสบ โดยเฉพาะในคนที่เป็น โรคอยู่ก่อนแล้ว ร่วมกับการมีความสามารถในการทำความสะอาด ช่องปากลดลง จึงอาจพบมีคราบจุลินทรีย์สะสมอยู่ตามคอฟัน ทำให้ เกิดโรคในช่องปากได้ง่าย

4.2 คนที่ร่างกายขาดสารอาหาร โดยเฉพาะวิตามินซี บี และดี มีผลต่อการต้านทานของ เหงือก ถ้าร่างกายขาดสารอาหารเหล่านี้ จะทำให้เหงือกและกระดูกหุ้มราก ฟันลดความแข็งแรงลงไป

4.3 คนที่กินยาลดความดันโลหิตสูง บางคนอาจพบมีสภาวะเหงือกบวมได้

4.4 คนที่เป็นโรคเกี่ยวข้องกับภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง / มะเร็งเม็ดโลหิตขาว จะมีอาการของโรคเหงือกอักเสบร่วมด้วย เพราะเกิดความอ่อนแอของเนื้อเยื่อรอบตัวฟัน


ขอขอบคุณบทความดีๆจาก